ผลตอบแทนสูงมักมาคู่กับความเสี่ยงสูงเสมอ การประเมินความเสี่ยงก่อนลงทุน จะทำให้เรารู้ว่าเราสามารถรับความเสี่ยงได้มากน้อยแค่ไหน เหมาะที่จะลงทุนกับความเสี่ยงระดับใด
ปัจจัยที่เป็นตัวกำหนดความสามารถในการรับความเสี่ยง ได้แก่
- อายุ ของเราเป็นตัวกำหนดได้เป็นอย่างดี เช่น นักลงทุน อายุ 20 กับนักลงทุน อายุ 80 นักลงทุนอายุน้อยกว่า จะรับความเสี่ยงได้สูงกว่า เพราะมีโอกาสหาเงินได้ชดเชย เงินที่ขาดทุนไปได้ดีกว่า
- ความมั่งคั่ง คือเงินทุน หากเรามีเงินในบัญชี 10 ล้านบาท ถ้าขาดทุน 100,000 บาท ก็ยังถือว่าเป็นสัดส่วนที่น้อยมาก ไม่ถึง 1 % ของเงินในบัญชี ด้วยซ้ำ จะเห็นได้ว่า คนที่มีความมั่งคั่งสูงจะ สามารถรับความเสี่ยงได้สูงกว่า
- ภาระ ไม่ว่าจะเป็นภาระของบุคคลในครอบครัว ภาระหนี้สินต่าง ๆ เช่น ผ่อนรถ ผ่อนบ้าน ซึ่งภาระเหล่านี้ จะเป็นตัวจำกัดความสามารถในการรับความเสี่ยงของผู้ลงทุน หากมีภาระค่อนข้างมาก จะทำให้การรับความเสี่ยงของผู้ลงทุนลดลงไป เนื่องจากมีความจำเป็นที่จะต้องเผื่อไว้สำหรับภาระต่างๆ เหล่านั้นด้วย
- ระยะเวลา หากผู้ลงทุนมีระยะเวลาการลงทุนที่ยาวนานกว่า มีโอกาสทำให้เผชิญความผันผวนได้ ดังนั้น หากเงินที่เราเอาไปลงทุน เป็นเงินที่ไม่ได้ใช้จ่ายที่จำเป็น (เงินเย็น) เงินก้อนนั้น ก็จะสามารถรับความเสี่ยงได้มากขึ้น
- ความรู้ หากเราเข้าใจในหลักทรัพย์หรือมีประสบการณ์มากเท่าไหร่ จะทำให้ผู้ลงทุน สามารถเข้าใจความเสี่ยงและรับความเสี่ยงได้ดีกว่า
- จิตวิทยา การลงทุนจะมีความเคลียด ความกดดัน เกิดขึ้น ถ้าผู้ลงทุนเกิดความไม่สบายใจ รู้สึกกระวนกระวายใจเมื่อประสบกับภาวะขาดทุน จนเกิดอาการกินไม่ได้ นอนไม่หลับ ลักษณะนี้ ก็ตีความได้ว่า รับความเสี่ยงได้น้อย วิธีแก้ปัญหาคือ ผู้ลงทุน ควรลดความเสี่ยงโดยลดขนาดเงินลงทุนลง หรือเปลี่ยนไปลงทุนในรูปแบบอื่น เพื่อให้ตัวเองสบายใจมากขึ้น
ตัวกำหนด ทั้ง 6 ข้อ ที่ได้กล่าวมา พอที่จะสรุปได้ว่า ความสามารถในการรับความเสี่ยงของแต่ละคนไม่เท่ากัน ดังนั้น อย่าลงทุนตามใคร ควรเลือกทำตามความเข้าใจของตัวเองดีที่สุด เพื่อให้สัมพันธ์กับระดับความเสี่ยงที่เรารับได้นั่นเอง
[ratings]