โดยปกติเครื่องมือที่ใช้ในการวิเคราะห์เพื่อการลงทุน ไม่ว่าจะเป็นตลาดหุ้นหรือตลาดค่าเงิน(FOREX)
ถ้าแยกออกมา แล้วสรุป จะประกอบด้วยการวิเคราะห์ใน 2 ปัจจัยหลักคือ
- การวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐาน (Fundamental Analysis) ประกอบด้วย ผลการดำเนินงานของบริษัท, บัญชี, งบการเงิน, แนวโน้มความเติบโตของบริษัท
- การวิเคราะห์ปัจจัยทางเทคนิค (Technical Analysis) เป็นการติดตามความเคลื่อนไหวทางตลาด
1. การวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐาน(Fundamental Analysis) ประกอบด้วย
- การวิเคราะห์ทางด้านเศรษฐกิจ (Economic Analysis)
- การวิเคราะห์ทางด้านอุตสาหกรรม (Industry Analysis)
- การวิเคราะห์ประเภทคุณลักษณะของบริษัท (Company Analysis)
1.1 การวิเคราะห์ทางด้านเศรษฐกิจ (Economic Analysis) คือการวิเคราะห์และพยากรณ์แนวโน้มภาวะเศรษฐกิจในอนาคต ทั้งแนวโน้ม ระยะยาวและระยะสั้น ทั้งเศรษฐกิจของประเทศและเศรษฐกิจโลก นอกจากนั้น ยังรวมไปถึงการวิเคราะห์วัฏจักรของเศรษฐกิจ (Economic Cycle) ดัชนีชี้วัดภาวะเศรษฐกิจในด้านต่างๆ และนโยบายเศรษฐกิจของรัฐ เช่น นโยบายการเงิน นโยบายการคลัง นโยบายการค้าระหว่างประเทศ ว่าจะมีผลกระทบต่อธุรกิจที่ออกหลักทรัพย์(หุ้น) และค่าเงิน(forex) มากน้อยเพียงใด
1.2 การวิเคราะห์ทางด้านอุตสาหกรรม (Industry Analysis) คือการวิเคราะห์วงจรอุตสาหกรรม (Industry Life Cycle) สภาพการ แข่งขันอยู่ในระดับไหน แนวโน้มอัตราการเจริญเติบโตในอนาคตจะเป็นอย่างไร ซึ่งตรงนี้ก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยในหลายๆอย่างเช่น นโยบายของรัฐบาลที่ให้การสนับสนุนหรือเป็นอุปสรรคในการดําเนินธุรกิจ โครงสร้าง การเปลี่ยนแปลงของระบบภาษีของรัฐบาล โครงสร้างของอุตสาหกรรมแต่ละประเภท ฯลฯ
1.3 การวิเคราะห์ประเภทคุณลักษณะของบริษัท (Company Analysis) คือการวิเคราะห์ที่เกี่ยวข้องกับเชิงคุณภาพ (Qualitative Analysis) เช่น ประสบการณ์, ความน่าเชื่อถือของผู้บริหาร, บุคลากร, ขีดความสามารถในการผลิต, การบริการ, การวิจัยและพัฒนา, การบริหารและระบบสารสนเทศ ฯลฯ และการวิเคราะห์ในเชิงปริมาณ (Quantitative Analysis) เช่น งบการเงินในอดีต, งบการเงินปัจจุบัน เพื่อใช้คำนวณหาปริมาณผลกำไรในอนาคต
2. การวิเคราะห์ปัจจัยทางเทคนิค (Technical Analysis)
คือการวิเคราะห์หาแนวโน้มของตลาดหลักทรัพย์(หุ้น)หรือค่าเงิน(forex)ว่าดัชนีราคามันจะเคลื่อนไหวไปทิศทางไหน โดยยึดหลักสถิติจากข้อมูลอดีตมาใช้ในการคำนวณ เช่นระดับราคาหรือรูปแบบการเปลี่ยนแปลงของราคา ปริมาณการซื้อขายในท้องตลาด ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะไม่เกี่ยวข้องกับงบทางการเงินของบริษัทโดยตรงเช่น งบดุล, งบกำไรขาดทุน, งบกระแสเงินสด ฯล สำหรับทฤษฏีแนวคิดเพื่อการวิเคราะห์ปัจจัยทางด้านเทคนิคนั้นมีอยู่มากมาย เช่น
- ทฤษฏีดาว (Dow’s Theory)
- ค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ (Moving Averages)
- รูปแบบราคา (Price Pattern)
- แผนภูมิแท่งเทียน (Candlesticks)
- แผนภูมิ (Point & Figure)
- ดัชนีบ่งชี้ (Indicators)
- เครื่องมือทางเทคนิค ฯลฯ
โดยปกติในตลาดค่าเงิน(Forex) จะเน้นการวิเคราะห์ไปที่ปัจจัยทางเทคนิค ซึ่งในการวิเคราะห์นั้น จะอยู่ภายใต้สมมติฐานที่ว่า ประวัติศาสตร์มักจะซ้ำรอยเดิมเสมอ ความหมายก็คือ พฤติกรรมของนักลงทุน เมื่อเจอเหตุการณ์ลักษณะเดิม ก็จะมีแนวโน้มตอบสนองในลักษณะเดิมเช่นกัน ดังนั้นการวิเคราะห์ทางเทคนิค จึงเป็นการใช้วิชาสถิติประมวลข้อมูลในอดีต ประกอบกับสถานการณ์ปัจจุบัน เพื่อนำมาใช้คาดการณ์อนาคตนั่นเอง ส่วนวิธีการวิเคราะห์นั้น ต้องทำยังไงบ้าง ต้องใช้โปรแกรมอะไร และดูยังไง ฯลฯ จะกล่าวอีกในบทความต่อไปครับ