ความหมายของ Gap หรือ Window ในกราฟแท่งเทียนหมายถึง จุดหรือบริเวณของราคาในกราฟที่ไม่มีการซื้อ-ขายเกิดขึ้น หรือจะว่าง่ายๆก็คือราคาที่ไม่มีการเทรดนั่นเอง โดยปกติจะเกิดขึ้นกับราคาปิดและราคาเปิดในวันถัดไปของตลาด
ซึ่งปัจจัยที่ทำให้เกิด Gap ก็มีอยู่หลายสาเหตุ ยกตัวอย่างเช่น การประกาศตัวเลขผลประกอบการหลังจากที่ตลาดปิดแล้ว หากตัวเลขที่ออกมานั้นสูงเกินกว่าที่ตลาดได้คาดการณ์เอาไว้อย่างมีนัยสำคัญ หรือตัวเลขผลประกอบการนั้นดีเกินคาด จึงเป็นเหตุให้ในวันถัดมานักลงทุนตั้งราคาซื้อที่สูงขึ้นกว่าราคาปิดจากวันก่อน ทำให้เกิดช่องว่างของราคาที่ขาดหายไปที่เรียกว่า Gap หรือ Window นี่เอง ฉะนั้น Gap หรือ Window จึงเปรียบเสมือนหลักฐานหรือข้อพิสูจน์ ที่บ่งบอกว่ามีปัจจัยสำคัญบางอย่าง ที่ส่งผลต่อปัจจัยพื้นฐาน หรือจิตวิทยาการลงทุน ของนักลงทุนที่จะเข้ามาในตลาด
รูปแบบของ Gap (Window) โดยส่วนใหญ่จะมีอยู่ในลักษณะ 4 แบบ คือ
1. Common Gap เป็น Gap ที่พบเห็นได้ตามปกติ มักจะเกิดก่อนการประกาศจ่ายปันผล ปริมาณการซื้อขายจะเบาบาง โดยทั่วไปเมื่อเกิด Gap ขึ้นแล้ว จากนั้นไม่นานนักก็จะถูกปิด Gap ทันที คืออยู่ในช่วงเวลาแค่ไม่กี่วันหรือสัปดาห์นั่นเอง
2. Breakaway Gap ถือว่าเป็น Gap ที่พบได้ไม่บ่อยนัก และเมื่อหากเกิดขึ้นแล้ว Gap ประเภทนี้จะอยู่ในบริเวณของแนวรับและ แนวต้าน ที่ประกอบด้วย Gap ที่เป็นขาลงและขาขึ้นนั่นเอง
ตามตัวอย่าง Breakaway Gap ขาลง สังเกตได้ว่าแท่งเทียนวันถัดไป(แท่งสีแดง)เปิดกระโดดลงหลุดแนวรับลงมา ทำให้เกิดช่องว่างที่เรียกว่า Gap ขึ้น
ตามตัวอย่าง Breakaway Gap ขาขึ้น จะสังเกตได้ว่าแท่งเทียนวันถัดไป(แท่งสีแดง)เปิดกระโดดทะลุแนวต้านขึ้นไป ทำให้เกิดช่องว่างที่เรียกว่า Gap ขึ้น
3. Runaway Gap คือลักษณะของ Gap ที่เกิดขึ้นตามแนวโน้มของตลาด (ค่าเงินหรือหุ้น) ที่มันเคลื่อนที่ ซึ่งจะประกอบด้วย Runaway Gap ที่เป็นแนวโน้มขาลง (Downtrend) และ Runaway Gap ที่เป็นแนวโน้มขาขึ้น (Uptrend)
ลักษณะของ Runaway Gap ที่เกิดขึ้นกับแนวโน้มขาลง หลังจากที่เกิด Gap แล้ว มักจะมีการซื้อขายด้วยปริมาณที่เพิ่มมากขึ้นตามมา
ลักษณะของ Runaway Gap ที่เกิดขึ้นกับแนวโน้มขาขึ้นนั้น หลังจากที่เกิด Gap แล้ว มักจะมีการซื้อขายด้วยปริมาณที่เพิ่มมากขึ้นตามมา
4. Exhausting Gap เป็นรูปแบบของ Gap ที่เกิดขึ้นในช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงหรือกลับตัวของเทรนด์ ไม่ว่าจะเป็นทั้งเทรนด์ขาขึ้นและขาลง ลักษณะคือ ในแนวโน้มขาขึ้นจะเกิดคล้ายกับ Runaway Gap แต่จะมีการปิด Gap อย่างรวดเร็ว และมีปริมาณการซื้อขายที่สูงมาก ประกอบกับราคาที่มีการลดลงอย่างรวดเร็ว แสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแนวโน้มจากขาขึ้นเป็นขาลง
ตามตัวอย่างของ Exhausting Gap ที่เกิดในแนวโน้มขาขึ้น ยืนยันด้วยปริมาณการซื้อขายที่เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง และเกิดรูปแบบการกลับตัวแนวโน้มระยะสั้นของแท่งเทียนในรูปแบบ Shooting Star
ตามตัวอย่างของ Exhausting Gap ที่เกิดในแนวโน้มขาลง แล้วมีการกลับตัวจากเทรนด์ขาลงเปลี่ยนเป็นเทรนด์ขาขึ้น โดยมีการยืนยันด้วยปริมาณการซื้อขายที่เพิ่มสูงขึ้น แล้วเกิดการปิด Gap อย่างรวดเร็ว และหลังจากนั้นก็เกิดแท่งเทียนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วด้วยเช่นกัน
เราสามารถทำกำไรจากการเกิด Gap ได้ แนะนำอ่าน บทความ เทคนิคทำกำไรช่วงปิด Gaps